SMEs คืออะไร ?

| 2553-08-18 | |
เกี่ยวกับ SMEs
ปัจจุบันนี้ เราจะเห็นว่ามีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับโครงการช่วยเหลือ SMEs ของไทยมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ครั้งระบบเศรษฐกิจของไทยเราประสบกับปัญหาวิกฤติ ทำให้ธุรกิจทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่จำนวนมากมายที่ต้องล้มเลิกกิจการไป แต่มีธุรกิจอยู่ประเภทหนึ่งที่รัฐบาลพยายามจะสนับสนุนให้อยู่รอด โดยเริ่มการสนับสุนอย่างจริงจังมาตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อน ๆ มีท่านอดีตรํฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม คุณสุวัจน์ ลิปตพัลลภ และท่านอดีตอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คืออาจารย์มนู เลียวไพโรจน์ ซึ่งปัจจุบัน (พ.ศ. 2545) ท่านเป็นปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้พยายามผลักดันให้โครงการต่าง ๆ ที่สนับสนุนกิจการของวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมของไทยอยู่รอด เติบโต และก้าวหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ตลอดจนมีการตั้งสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือที่เรียกว่า ISMED เพื่อดำเนินโครงการช่วยเหลือ SME ของไทยได้อย่างต่อเนื่องต่อไป เว็บไซต์นี้ขอขอบพระคุณท่านทั้งสอง และบุคคลอื่นที่มีส่วนสนับสนุนและไม่ได้เอ่ยนามมา ณ โอกาสนี้

SMEs คืออะไร ?
เมื่อกล่าวถึง SMEs แล้ว บางครั้งยังมีความสับสนในความหมายอยู่ ดังนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จึงร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิเช่นกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้า บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม รวมทั้งกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม ได้มาระดมสมองและพิจารณาให้ความหมายของ SMEs ซึ่งเป็นคำย่อจากภาษาอังกฤษว่า Small and Medium Enterprises หมายถึง วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งประกอบไปด้วยกิจการการผลิต กิจการค้าและกิจการการบริการ โดยได้กำหนดคุณลักษณะของวิสาหกิจที่จะเป็น SMEs ให้พิจารณาจากเกณฑ์มูลค่าขั้นสูงของทรัพย์สินถาวร ที่กิจการนั้นมีอยู่ ดังนี้

ประเภท
ขนาดย่อม
ขนาดกลางและขนาดย่อม

การผลิต
ไม่เกิน 50 ล้านบาท
ไม่เกิน 200 ล้านบาท

การบริการ
ไม่เกิน 50 ล้านบาท
ไม่เกิน 200 ล้านบาท

การค้าส่ง
ไม่เกิน 50 ล้านบาท
ไม่เกิน 100 ล้านบาท

การค้าปลีก
ไม่เกิน 30 ล้านบาท
ไม่เกิน 60 ล้านบาท


ที่มา กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม
จาก สาระสำคัญของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หน้า 1-8 มกราคม 2542

ความสำคัญของ SMEs ที่มีต่อระบบเศรษฐกิจ
จากการศึกษาพบว่า สาระสำคัญที่ SMEs ทำให้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมดังนี้

SMEs เป็นแหล่งรองรับการจ้างงานขนาดใหญ่และกระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งนี้เพราะวิสาหกิจต่าง ๆ ได้เกิดอยู่ในทุกชุมชนที่มีประชากรอาศัยอยู่กันเป็นหมู่เหล่า ในปี พ.ศ. 2542 มีการประมาณการว่า SMEs สามารถรองรับในการจ้างงานได้ถึง 4.5 ล้านคน

SMEs สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในตัวสินค้ารวมทั้งยังทำรายได้นำเงินตราต่างประเทศจากการส่งออก และยังสามารถผลิตสินค้าเพื่อทดแทนการนำเข้า อันทำให้ประเทศสามารถประหยัดเงินตราต่างประเทศได้จำนวนมากในแต่ละปี

SMEs เป็นแหล่งสร้างเสริมประสบการณ์บริการแก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้เริ่มต้นธุรกิจใหม่หรือนักลงทุนหน้าใหม่ จากธุรกิจเล้ก ๆ และพัฒนาจนเติบโตในที่สุด

SMEs เป็นหน่วยผลิตที่สนับสนุนและเชื่อมโยงไปสู่กิจการต่าง ๆ โดยเฉพาะกิจการขนาดใหญ่ ขนาดกลางและหรือกิจการขนาดย่อมด้วยกันเองในรูปแบบของการผลิตเป็นสินค้าวัตถุดิบขั้นต้น ขั้นกลาง ด้วยวิธีการว่าจ้างผลิต หรือการรับช่วงการผลิต (Subcontracting)
SMEs เป็นการเชื่อมโยงระหว่างภาคการผลิตที่เกี่ยวข้องกัน เช่น ภาคการเกษตร ภาคการบริการขนส่ง ภาคการก่อสร้าง ภาคการค้าส่ง-ค้าปลีก

การเกิดขึ้นของ SMEs ตามภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศเท่ากับเป็นการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค อันเป็นส่วนหนึ่งของการกระจายรายได้ที่ดีทางหนึ่ง

ลักษณะเด่นของ SMEs
การประกอบอาชีพใด ๆ ก็แล้วแต่จะมีความแตกต่างกันในสาระของกระบวนการ SMEs ก็มีคุณลักษณะเด่นที่ควรทราบ ดังนี้

การเข้าสู่ธุรกิจทำได้ง่าย เพราะใช้เงินทุนและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆไม่มากนัก และเมื่อประกอบการแล้วเกิดมีปัญหาความสูญเสียโอกาสที่จะฟื้นตัวเกิดได้ง่ายกว่ากิจการขนาดใหญ่

มีความคล่องตัวในการบริการจัดการ ผู้ประกอบการสามารถควบคุมดูแลกิจการได้ทั่วถึงและใกล้ชิด
ดำเนินธุรกิจไม่ว่าด้านการผลิตสินค้า การจัดจำหน่ายหรือการบริการจะมีความยืดหยุ่นสูง สอดคล้องกับยุคการผลิตและการค้าที่ต้องการตอบสนองที่รวดเร็ว ตลอดจนการผลิตและการค้าที่มุ่งความหลากหลายของรูปแบบหรือบริการมากกว่ามุ่งปริมาณ
สามารถสร้างความชำนาญเฉพาะอย่างเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ

ปัญหาของ SMEs ในภาพรวม
จาการศึกษาวิจัย และเก็บรวบรวมของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมตลอดเวลากว่า 50 ปีที่ผ่านมา พบว่าปัญหาโดยรวมของ SMEs ที่ประสบอยู่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพอจะสรุปโดยสังเขปได้ดังนี้

ปัญหาด้านการตลาด
วิสาหกิจขนาดกลางและย่อมส่วนใหญ่มักตอลสนองความต้องการของตลาดในท้องถิ่น หรือตลาดในประเทศ ยังขาดความรู้ความสามารถด้านการตลาดในวงกว้างโดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ ขณะเดียวกันความสะดวกรวดเร็วในการคมนาคมขนส่ง ตลอดจนการเปิดเสรีทางการค้าทำให้วิสาหกิจขนาดใหญ่ รวมทั้งสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาแข่งขันกับสินค้าในท้องถิ่นหรือในประเทศที่ผลิตโดยกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมากขึ้น
ขาดแคลนเงินทุน
วิสาหกิจขนาดกลางและย่อมมักประสบปัยหาการขอกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อมาลงทุนหรือขยายการลงทุน หรือเป็นเงินทุนหมุนเวียน ทั้งนี้เนื่องจากไม่มีการทำบัญชีอย่างเป็นระบบ และขาดหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ ทำให้ต้องพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ และต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สูง
ปัญหาด้านแรงงาน
แรงงานที่ทำงานในวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมจะมีปัญหาการเข้าออกสูง กล่าวคือ เมื่อมีฝีมือและมีความชำนาญงานมากขึ้น ก็จะย้ายออกไปทำงานในโรงงานขนาดใหญ่ที่มีระบบและผลตอบแทนที่ดีกว่า จึงทำให้คุณภาพของแรงงานไม่สม่ำเสมอและการพัฒนาไม่ต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพของสินค้า
ปัญหาข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีการผลิต
โดยทั่วไปวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมักใช้เทคนิคการผลิตไม่ซับซ้อนเนื่องจากการลงทุนต่ำ และผู้ประกอบการ พนักงานขาดความรู้พื้นฐานที่รองรับเทคนิควิชาการที่ทันสมัย จึงทำให้ขาดการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานที่ดี
ข้อจำกัดด้านการจัดการ
วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมักขาดความรู้ในด้านการจัดการ หรือการบริหารงานที่มีระบบ ใช้ประสบการณ์จากการเรียนรู้โดยเรียนถูกเรียนผิดเป็นหลัก อาศัยบุคคลในครอบครัวหรือญาติพี่น้องมาช่วยงาน การบริหารในลักษณะนี้แม้มีข้อดีในเรื่องการดูแลที่ทั่วถึงหากธุรกิจไม่ใหญ่นัก แต่เมื่อกิจการเริ่มขยายตัวหากไม่ปรับปรุงการบริหารจัดการให้มีระบบก็จะเกิดปัญหาขึ้นได้
ปัญหาการเข้าถึงการส่งเสริมของรัฐ
วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นจำนวนมากเป็นการจัดตั้งกิจการที่มีรูปแบบไม่เป็นทางการ เช่นผลิตตามบ้าน ผลิตในลักษณะโรงงานห้องแถว ไม่มีการจดทะเบียนโรงงาน ทะเบียนพาณิชย์หรือทะเบียนการค้า ดังนั้นกิจการหรือโรงงานเหล่านี้จึงค่อนข้างปิดตัวเองในการเข้ามาใช้บริการของรัฐ หรือแม้แต่กิจการหรือโรงงานที่มีการจดทะเบียนถูกต้อง ก็มักไม่ค่อยอยากเข่ามายุ่งเกี่ยวกับหน่วยงานของรัฐ เนื่องจากปฏิบัติไม่ค่อยถูกต้องเกี่ยวกับการเสียภาษี การรักษาสภาพสิ่งแวดล้อม หรือการรักษาความปลอดภัยที่กำหนดตามกฏหมาย นอกจากนี้ในเรื่องการส่งเสริมการลงทุนก็เช่นเดียวกัน แม้ว่ารัฐบาลจะได้ลดเงื่อนไขขนาดเงินลงทุนและการจ้างงาน หรือจูงใจให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเสนอโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนให้มากขึ้น แต่จากข้อมูลการศึกษาวิจัยพบว่าวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพียง 8.1 % เท่านั้นที่มีโอกาสได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐบาล
ปัญหาข้อจำกัดด้านบริการส่งเสริมพัฒนาขององค์กรภาครับและเอกชน
การส่งเสริมพัฒนาวิสาหิจขนาดกลางขนาดย่อมที่ผ่านมา ได้ดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมส่งเสริมการส่งออก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทสไทย ตลอดจนสมาคมการค้าและอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างไรก็ตามเนื่องจากอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมมีจำนวนมากและกระจายอยู่ทั่วประเทศ ประกอบกับข้อจำกัดของหน่วยงานดังกล่าว เช่น ในเรื่องของบุคลากร งบประมาณ จำนวนสำนักงานสาขาในภูมิภาค การให้บริการส่งเสริมสนับสนุนด้านต่าง ๆ จึงไม่อาจตอบสนองได้ทั่วถึงและเพียงพอ
ปัญหาข้อจำกัดในการรับรู้ข่าวสารข้อมูล
เนื่องจากปัญหาและข้อจำกัดต่าง ๆ ข้างต้น วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมโดยทั่วไป จึงค่อนข้างมีจุดอ่อนในการรับรู้ข่าวสารด้านต่าง ๆ เช่น นโยบายและมาตรการของรัฐบาล ข้อมูลข่าวสารด้านการตลาด เป็นต้น

ที่มาจากเว็บ http://www.classifiedthai.com/content.php?article=4214

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น


มุมมองของชีวิต

Blog Archive