อาชีพเสริม ทางเลือก ทางรอด ของมนุษย์เงินเดือน

| 2553-09-02 | |
จอย (นามสมมติ) มนุษย์เงินเดือนของบริษัทขนาดกลางแห่งหนึ่ง มีรายได้ต่อเดือนจากวุฒิประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง 5,000 บาท ระหว่างทำงานจอยจึงเรียนต่อระดับปริญญาตรีไปด้วย เพื่อหวังจะได้ปรับเงินเดือนให้อยู่ในระดับสูงขึ้น และดำเนินชีวิตให้รอดได้อย่างสบายขึ้นในยุคเศรษฐกิจถดถอย ...

ระหว่าง ยังไม่จบปริญญาตรี จอยไม่เคยได้รับการปรับเงินเดือนหรือโบนัส เช่นเดียวกับคนอื่นๆ ในที่ทำงานเดียวกัน เพราะบริษัทอ้างว่ากำไรน้อยให้ช่วยๆ กัน ครั้นพอจบปริญญาตรี จอยหวังจะได้รับการปรับเงินเดือนเทียบเท่าพนักงานระดับปริญญาตรีคนอื่นๆ อย่างน้อยก็น่าจะได้ขึ้นเงินเดือนระหว่าง 1,000-2,000 บาท แต่ปรากฏว่า บริษัทปรับเงินเดือนให้จอยเพียง 500 บาท

จอยรู้สึกผิดหวัง เสียใจ ที่สำคัญคือ ทั้งครอบครัวก็คงต้องกระเบียดกระเสียรกันต่อไป เงินเดือนขึ้น 500 บาท แทบจะสลายไปกับสายลม ไหนจะค่ามอเตอร์ไซค์ออกจากซอยบ้าน ค่ารถประจำทาง 2 ต่อ (แม้จะเป็นเส้นทางสั้นๆ แต่ไม่มีสายตรง) ไหนจะต้องนั่งรถเข้าไปในซอยที่ทำงานอีกล่ะ นี่ยังไม่รวมค่าเช่าบ้าน ค่าข้าวปลาอาหารการกินที่แพงขึ้นทุกวัน และค่าอื่นๆ อีกมากมาย

ทางเลือก-ทางรอดของจอย (และคนแบบจอย) มีอะไรบ้าง?

หารายได้เสริม

แทน ที่จะตัดสินปัญหาด้วยอารมณ์ อย่างการ “ลาออก” หรือ “อู้งาน” เพื่อแสดงการต่อต้านบริษัทที่ไม่ยอมขึ้นเงินเดือนและค่าครองชีพให้อย่าง เหมาะสม จอยอาจจะเลือก “รักษา” สภาพการเป็นลูกจ้างในบริษัทเดิมเอาไว้ อย่างน้อยก็ยังได้เงินเดือนทุกเดือน และมีสวัสดิการสังคม แต่อาจจะลองมองหาอาชีพที่ 2 (หรือ 3 ถ้าทำได้) เพื่อที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้นสำหรับค่าใช้จ่ายที่ทวีตัวในครัวเรือน

อาชีพเสริมอย่าให้เป็นแค่ความคิด เพราะจะเป็น “ตัวช่วย” ที่เห็นผลจริงสำหรับหลายๆ คน โดยเฉพาะคนที่มีรายได้น้อย และต้องการจะอยู่รอดให้ได้ในยุคที่สินค้าราคาแพง ค่าครองชีพถีบตัวสูงลิ่วๆ

คนอเมริกันกว่า 7 ล้านคน ล้วนมีอาชีพที่ 2 เพราะฉะนั้นนี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ และเป็นสิ่งที่ทำได้จริง ลองดูว่าคุณมีศักยภาพจะทำอาชีพเสริมที่น่าสนใจเหล่านี้หรือไม่?

ติวเตอร์/สอนหนังสือ
รับเลี้ยงเด็ก
ออกแบบจัดสวน และอื่นๆ
ขายเสื้อผ้า
ช่าง
นักร้อง/นักดนตรี
พนักงานเสิร์ฟ
ส่งพิซซา
รับเลี้ยงสัตว์
รับภาระจดเก็บ/ชำระค่าสาธารณูปโภค
พนักงานอัพเดตเว็บ
ขายของในอีเบย์

Tips

- ก่อนอื่นต้องรู้กฎระเบียบของบริษัทตัวเองว่า มีนโยบายเกี่ยวกับการให้ทำอาชีพเสริมอย่างไรบ้าง บางบริษัทอาจเปิดเสรี แต่ก็มีหลายแห่งที่ห้ามทำอย่างเด็ดขาด หรือห้ามไปรับจ๊อบในธุรกิจเดียวกัน ถามแผนกเอชอาร์ให้แน่ใจ

- ที่สำคัญมากๆ คุณต้องเข้าใจให้ชัดเจนว่า เวลาในการทำงานหลักควรอยู่ตรงไหน ตั้งแต่กี่โมงถึงกี่โมง (แน่ล่ะ ไม่ควรนำงานจ๊อบมาทำในเวลางานหลัก หรือมาสายเพราะมัวแต่ทำจ๊อบ) และคุณต้องมีความรับผิดชอบอะไรบ้าง

- อย่าให้ “งาน” และ “เงิน” เป็นเจ้าชีวิตคุณ การยึดอาชีพเสริมด้วยการทำงานล่วงเวลาเป็นครั้งเป็นคราว เช่น 3 ครั้งต่อสัปดาห์ อาจจะโอเค แต่ไม่ใช่ว่าทำงานเสริมเกินเวลาทุกวันโดยไม่มีเวลาพัก ไม่หลับไม่นอนให้เพียงพอ คราวนี้ละก็...ทั้งงานหลัก ทั้งงานเสริม คงต้องบอกศาลากับคุณแน่

ทำงานที่บ้าน

จอยอาจจะเหมือนกับ อีกหลายรายที่หุนหันพลันแล่น เลือกที่จะเดินหันหลังให้งานที่ทำอยู่ เมื่อรู้สึกว่าหักลบกลบหนี้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางออกจากบ้านแต่ละวันแล้ว ช่างไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย

การทำงานอยู่กับบ้านก็มีข้อดีที่จะ ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และค่าอาหารที่ต้องซื้อนอกบ้าน ซึ่งอาจจะราคาสูงกว่าซื้อหามาทำกินเอง ที่สำคัญคือ การได้เป็นนายของตัวเอง สามารถจะเลือกได้ว่าจะเริ่มทำงานตอนไหน ทำอะไรก่อนหลัง แต่อีกด้านหนึ่ง การเป็นนายตัวกลับไปทำงานที่บ้านก็ต้องมีระเบียบวินัยในตัวเองเป็นอย่างสูง เช่นเดียวกัน ซึ่งประการหลังนี้มีหลายคนหวาดๆ เสียวๆ และทำให้ไม่กล้าที่จะเดินออกไปจากชีวิต “งานประจำ” ที่แม้จะรู้สึกว่าขมขื่นอยู่

อย่างไรก็ตาม มิใช่ว่าทุกคนจะสามารถออกจากงานมาเป็นนายตัวเองที่บ้านได้ นอกจากระเบียบวินัยและหัวใจที่แข็งแกร่งแล้ว ความสามารถพิเศษส่วนตัว รวมทั้งเครือข่ายสังคมที่คุณรู้จักก็เป็นสิ่งสำคัญในการทำงานอยู่กับบ้าน “ให้รอด”

เพราะฉะนั้นเบื้องแรกต้องตัดสินใจให้ดีด้วยการสำรวจความ สามารถตัว เอง ดูว่ามีลู่ทางนำไปทำมาหากินได้หรือไม่ คุณพร้อมหรือยังที่จะทำกิจการเล็กๆ ของตัวเอง หรือไม่งานที่คุณจะไปรับจ้างทำอยู่กับบ้านนั้นจะสามารถเลี้ยงตัวเองได้จริง หรือไม่ คุณจำเป็นจะต้องเรียนรู้ ฝึกฝนอาชีพอะไรเพิ่มเติมก่อนที่จะกลับไปจริงจังกับอาชีพนั้นที่บ้านหรือ เปล่า เช่น อาจไปเรียนทำผม นวดเท้า นวดไทย

ถ้ายังตอบคำถามเรื่อง ทุนรอน ทั้งทุนด้านเงินทอง ทุนด้านความสามารถ และคิดคำนวณไปมาแล้วยังปลงไม่ตกว่าจะไปได้รอด ก็ควรเลือกทำอาชีพเสริมดีกว่าที่จะออกไปอยู่บ้านแล้วล้อเล่นกับชะตาชีวิต “รอด-ไม่รอด”

แต่หากคุณมีทุนรอนพอเพียงและมั่นใจว่าจะรอด ก่อนจะตัดสินใจทำอะไรก็ต้องเริ่มจากการวางแผน ทำเหมือนว่าคุณจะทำธุรกิจจริงๆ แม้ว่าพนักงานบริษัทจะมีคุณเพียงคนเดียวก็ตาม การวางแผนที่ว่าต้องทำอย่างเป็นระบบระเบียบเหมือนทำบริษัทจริงๆ ตั้งแต่การวิจัยตลาด รู้กลุ่มลูกค้าของคุณ (ว่าเป็นใครและใครคนนั้นเป็นอย่างไร) เก็บหลักฐานทุกอย่างไว้ให้เป็นระบบระเบียบจนกว่าจะเห็นเงินจริงๆ เข้ากระเป๋า ตรวจสอบเงินอนาคตทุกชนิด ศึกษาเรื่องกฎหมายให้แม่น และอย่าลืมสอดส่องหาโอกาสใหม่ๆ

กระนั้นก็อย่ากระโจนเข้าใส่ ทุกอย่างโดยไม่ดูตาม้าตาเรือ โดยเฉพาะในเศรษฐกิจเช่นนี้ เล่ห์เหลี่ยมกลโกงของมิจฉาชีพที่จ้องจะฉกเงินจากบัญชีคุณมีมากกว่าคนต้องการ ทำธุรกิจใสสะอาดเยอะ การเตรียมพร้อมตั้งรับและศึกษาคู่ค้าอย่างรู้เขารู้เราจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

Tips

- อย่าลืมโพนทะนาให้เพื่อนๆ ทุกคนรู้ว่า ตอนนี้คุณกำลังกลับมาทำงานที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเล็กๆ หรือทำอะไรก็ตาม ไม่แน่ว่าการบอกต่อไปเรื่อยๆ จะช่วยให้ธุรกิจเล็กๆ ที่เพิ่งเริ่มต้นของคุณเฟื่องฟู หรืออย่างน้อยก็ดีกว่าก้มหน้าก้มตาทำอยู่คนเดียวเงียบๆ แน่

- สวมวิญญาณนักขาย ไม่ว่าจะไปทำงานอะไรที่บ้าน แม้ไม่ใช่งานขายของหรือขายตรง แต่ถึงอย่างไร การมีวิญญาณนักขายจะช่วยธุรกิจ “ที่บ้าน” ได้รับการโปรโมตและมีที่ทางในธุรกิจนั้นๆ มากขึ้น

- เครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัย ไว้ใจได้ ไร้ปัญหา นอกจากจะช่วยสร้างเครดิตให้ธุรกิจเล็กๆ ของคุณแล้ว ยังช่วยให้ผลิตงานได้มากขึ้น และราบรื่นกว่า จริงมั้ย? ส่วนเว็บไซต์และนามบัตรที่ดูเป็นมืออาชีพก็อาจจะสำคัญไม่แพ้กัน

- วางแผนโฟลว์งานในแต่ละวันให้ดี เรียงลำดับความสำคัญของแต่ละเรื่อง ซึ่งจะทำให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็อย่าลืมข้อได้เปรียบของการทำงานที่บ้านไปล่ะ เช่นว่า คุณไม่เห็นต้องทำงานหน้าดำคร่ำเครียดตลอดเวลา จะพักดื่มชา กาแฟแบบโอ้เอ้บ้างก็ได้ ถ้าวางแผนไว้แล้วว่าไม่เสียงาน

ทั้งหมดนี้ คือทางเลือก-ทางรอดคร่าวๆ ซึ่งอาจพอเป็นไอเดียให้มนุษย์เงินเดือนอย่างเราท่าน เห็นช่องทางในการเพิ่มรายได้กันเล็กๆ น้อยๆ และอย่าลืมขยัน (ทำอาชีพเสริม) แล้วก็ต้องประหยัดอดออมกันไว้เผื่ออนาคตที่ไม่แน่ไม่นอนด้วยล่ะ

ที่มา Post Today

1 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น


มุมมองของชีวิต