“ลูกปัด”เครื่องประดับแฟชั่น ไอเดียบรรเจิดจนโกอินเตอร์

| 2553-08-30 | |
ลำพังแค่ทำเครื่องประดับเชือกร้อยลูกปัดคงไม่โดดเด่นมากนัก หากไม่ได้ฝีมือของหญิงเก่งและแกร่งอย่าง “เกษร โพธิสัตย์” ที่เติมความคิดสร้างสรรค์ลงไปในผลงาน โดยอาศัยประสบการณ์ที่สะสมมายาวนานกว่า 30 ปี ประกอบกับหยิบวัตถุดิบแปลกๆ ในท้องถิ่นมาผสมผสาน ช่วยให้ชิ้นงานมีเอกลักษณ์เด่นเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้า และเติบโตก้าวไกลไปสู่ตลาดส่งออก

เกษร โพธิสัตย์ เจ้าของกิจการร้าน “ลูกปัด” ที่ ถ.ช้างม่อยตัดใหม่ ต.ช้างม่อย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เล่าว่า ชอบทำงานฝีมือโดยเฉพาะเชือกถักมาตั้งแต่เด็ก มักหาซื้อเครื่องประดับเชือกถักมาเลาะแกะทิ้ง เพื่อเรียนรู้วิธีการถัก และลองฝึกทำด้วยตัวเอง

ด้วยข้อจำกัดของฐานะ ทำให้มีโอกาสเรียนแค่ระดับประถม และเริ่มยึดอาชีพถักเครื่องประดับลูกปัดขายริมข้างทางบริเวณตลาดวโรรสตั้งแต่วัยรุ่น จากจุดเล็กๆ ในวันนั้น ปัจจุบัน กิจการได้ก้าวมาไกลอย่างยิ่ง โดยร้าน “ลูกปัด” ที่เปิดมากว่า 15 ปีแล้ว ถือเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องประดับลูกปัดรายใหญ่ประจำเมืองเชียงใหม่ โดยมีบริการครบถ้วน ตั้งแต่ขายปลีกและส่ง ขายอุปกรณ์ และรับฝึกสอนอาชีพ

นอกจากนั้น จากเริ่มต้นทำคนเดียวขายข้างทาง ปัจจุบัน เปิดเป็นบริษัท เมย์ บีด จำกัด มีแรงงานทั้งประจำ และเครือข่ายป้อนวัตถุดิบรวมกว่าร้อยชีวิต ส่วนตลาดมีฐานลูกค้าประจำสั่งออเดอร์มาจากทั่วประเทศ และเมื่อประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว ยังขยายสู่ต่างประเทศ ผ่านการออกแฟร์เพื่อการส่งออก อย่างงานแสดงสินค้าของขวัญ และงานแสดงสินค้าของใช้ในบ้าน (BIG&BIH) ซึ่งมีออเดอร์ทั้งยุโรป เอเชีย และตะวันออกกลาง เป็นต้น

“ข้อดีของงานแฮนด์เมดเครื่องประดับลูกปัด คือ ต้นทุนต่ำ แต่สามารถทำกำไรต่อหน่วยได้สูง หากมีดีไซน์โดดเด่น สร้อยหนึ่งเส้นที่ต้นทุนแค่ 10 บาทก็อาจจะขายได้เป็นพันบาท อีกทั้ง สามารถพลิกแพลงทำเป็นสินค้าได้หลากหลาย ทั้งเครื่องประดับ และสินค้าที่ระลึก ช่วยให้เจาะลูกค้าได้หลายกลุ่ม หรือกรณีสินค้าที่ขายไม่ออก ก็สามารถรื้ออุปกรณ์ออกมาทำเป็นดีไซน์ใหม่ๆ ได้ ทำให้ไม่มีปัญหาของค้างสต๊อก” เจ้าของธุรกิจเผย

เธอ ระบุด้วยว่า จุดเด่นที่ช่วยให้เครื่องประดับร้านลูกปัดได้รับความนิยมและเติบโตมาจนถึงวันนี้ เพราะไม่หยุดนิ่งพัฒนารูปแบบ โดยสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่หาไม่ได้ในท้องตลาด ทั้งเทคนิคการถักและร้อยเชือก อีกทั้ง สร้างความแปลกใหม่ด้วยการประยุกต์ผสมผสานใช้วัตถุดิบธรรมชาติในท้องถิ่น เช่น เมล็ดกาแฟ กะลามะพร้าว รังไหม ฯลฯ อีกทั้ง เพิ่มมูลค่าด้วยการใส่ในบรรจุภัณฑ์ที่ลูกค้าจดจำและกลับมาซื้อซ้ำได้

“เคล็ดลับที่อยากจะฝากถึงคนที่จะยึดอาชีพนี้ ในการออกแบบควรจะเป็นตัวของตัวเอง มีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร แนะนำว่าควรใช้วัตถุดิบธรรมชาติที่เป็นของท้องถิ่นมาผสมผสาน เช่น เมล็ดพืช เปลือกหอย ฯลฯ ซึ่งจะทำให้ได้งานที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และยังสะท้อนถึงความเป็นท้องถิ่น เหมาะเป็นสินค้าที่ระลึก” เกษร แนะนำ

สำหรับวัสดุที่ใช้ในร้านนั้น เธอระบุว่า ส่วนใหญ่จะสั่งนำเข้าจากประเทศจีน ทั้งลูกปัด หินสี เม็ดกระดุม เชือกเทียน ฯลฯ ส่วนวัตถุดิบธรรมชาติ สั่งซื้อจากชาวบ้านในท้องถิ่น ส่วนการผลิตไปสอนวิชาชีพให้แก่กลุ่มแม่บ้านใน จ.เชียงราย กว่าร้อยชีวิต เพื่อให้เป็นแรงงานจ่ายค่าจ้างเป็นรายชิ้น ขณะนี้ สามารถผลิตได้ประมาณหนึ่งพันชิ้นต่อวัน

ทั้งนี้ ในร้าน “ลูกปัด” มีสินค้าเครื่องประดับและตกแต่งให้เลือกนับพันรายการ เช่น สร้อยคอ กำไรข้อมือ พวงกุญแจ ที่ห้อยโทรศัพท์ แหวน ต่างหู ฯลฯ ราคาตั้งแต่ 10 บาทไปจนถึงหลักพันบาท นอกจากนั้น ยังเปิดขายอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับถักเครื่องประดับครบถ้วน มีให้เลือกกว่าร้อยรายการ คิดราคาขายตามน้ำหนักที่ขีดละ 100 บาท และยังเปิดสอนอาชีพสำหรับผู้สนใจ คิดค่าเรียน 2,000 บาท (ระยะ 3 วันพร้อมอุปกรณ์)

ด้านช่องทางตลาด นอกเหนือจากหน้าร้านแล้ว จะขายผ่านอินเตอร์เน็ตที่เว็บไซต์ www.lookpud.com และออกงานแสดงสินค้า เช่น งานโอทอป ประจำปี และงาน BIG&BIH เป็นต้น

หญิงเก่ง ยอมรับว่า ปัจจุบันมีเครื่องประดับลูกปัดขายในท้องตลาดจำนวนมาก ทั้งจากผู้ผลิตรายใหญ่ถึงรายจิ๋ว แต่เชื่อว่า ตลาดยังไม่ถึงทางตัน เพราะสามารถพลิกแพลงทำเป็นสินค้าได้หลายรูปแบบ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีผู้ผลิตจำนวนมากและการแข่งขันสูง นับวันภาพรวมของราคาสินค้าประเภทนี้จะถูกกดให้ต่ำลงเรื่อยๆ ดังนั้น เตรียมจะออกแบรนด์ใหม่ ชื่อ “SINEE” ซึ่งจะเน้นเป็นเครื่องประดับแฮนด์เมดที่มีรูปแบบทันสมัยแปลกตาออกไป โดยใช้วัตถุดิบชั้นดีหาไม่ได้จากเจ้าอื่นๆ มุ่งลูกค้าระดับบน วางขายในห้างสรรพสินค้า และส่งออกโดยเฉพาะ ซึ่งจะช่วยขยายหาลูกค้ากลุ่มใหม่ ควบคู่กับรักษาตลาดเดิมที่เป็นฐานสำคัญอยู่แล้ว

โทร. 08-1951-9221 , 08-9835-9944 http://www.lookpud.com/

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น


มุมมองของชีวิต

Blog Archive