ร้อยตำรับ 'ยาหอมไทย'

| 2553-08-29 | |

มากคุณค่า มรดกภูมิปัญญา
เมื่อเอ่ยถึง “ยาหอม” ภูมิปัญญาของไทยที่สะสมกันมานาน ผ่านกาลเวลามารุ่นแล้วรุ่นเล่า หากแต่วันนี้กลับถูกมองว่าเป็นของโบราณ ล้าสมัย..ทั้งที่แท้จริงแล้ว เต็มเปี่ยมไปด้วยสรรพคุณมากมาย ที่ไม่ว่าใครได้พิสูจน์เป็นต้องทึ่ง!

ยาหอมไทย ได้รับการสืบทอดมายาวนานกว่า 3 ศตวรรษ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ระหว่าง พ.ศ. 2199-2231 ทรงโปรดฯ ให้หมอหลวงในราชสำนักรวบรวมตำรับยาสำคัญ ๆ ที่มีอยู่ขณะนั้นขึ้นเป็นตำราเรียกว่า “ตำราพระโอสถสมเด็จพระนารายณ์” โดยตำรานี้ได้ระบุเป็นตำราอ้างอิงไว้อีก 2 เล่ม คือ คัมภีร์มหาโชติรัต อันเป็นตำราเกี่ยวกับโรคสตรี และคัมภีร์โรคนิทาน อันเป็นตำราเกี่ยวกับเรื่องราวของโรคหรือเหตุแห่งโรค ซึ่งตำราทั้ง 2 เล่มนี้ยังคงใช้เป็นแม่แบบของตำราแพทย์แผนไทยในปัจจุบัน

ต่อมาในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงปรารภให้กระจายยาดี ๆ ไปตามหัวเมืองทั่วประเทศ เพื่อให้ราษฎรที่อยู่ห่างไกลที่หายาแก้โรคภัยได้ยาก ได้เข้าถึงยามากขึ้น ภายใต้ชื่อ “ยาโอสถสภา” (ยาสามัญประจำบ้าน) และจัดตั้งตำรับยาตำราหลวงขึ้น ซึ่งมียาหอมเป็นหนึ่งในนั้น และถ่ายทอดสืบต่อมาเป็นลำดับจนเป็นที่รู้จักสู่สามัญชน และใช้กันอย่างแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน อาชีพเสริม

เหตุใดจึงเรียกกันว่า “ยาหอม” รศ.ดร.นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าขยายความให้ฟังว่า อาจเป็นเพราะส่วนประกอบของสมุนไพรที่นำมาใช้มาจากเกสรดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมอยู่หลายชนิดด้วยกัน เช่น จำปา มะลิ พิกุล บุนนาค สารภี กระดังงา ลำดวน ลำเจียก เกสรบัวหลวง อีกทั้ง กฤษณา ขอนดอก กระลำพัก เปลือกสมุลแว้ง เปราะหอม ชะลูด หญ้าฝรั่น จันทน์แดง จันทน์เทศ จันทน์ชะมด ลูกจันทน์ รวมทั้ง เทียน อีก 5 ชนิด คือ เทียนขาว เทียนดำ เทียนแดง เทียนข้าวเปลือก เทียนตาตั๊กแตน นอกจากนี้ ยังมีโกฐอีก 5 อย่าง คือ โกฐสอ โกฐเขมา โกฐเชียง โกฐหัวบัว โกฐจุฬาลัมพา

“สมุนไพรเหล่านี้ส่วนใหญ่จะนำมาใช้ในเรื่องของคนเป็นลม มึนศีรษะ หน้ามืด ใจสั่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือช่วยแก้อาการคลื่นไส้ อาเจียน รวมไปถึงเรื่องนอนไม่หลับ ทั้งหมดเป็นภูมิปัญญาที่สะสมกันมาจากบรรพบุรุษของไทย ซึ่งยังไม่มีหลักฐานอ้างอิงที่ชัดเจน จะมาพูดลอย ๆ ว่าสมุนไพรดี ใช้ได้ สามารถใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบันได้ในยุค พ.ศ. 2553 นี้ บางครั้งการยอมรับ ความน่าเชื่อถือ อาจจะมีน้อย ฉะนั้น งานวิจัยจึงมีความสำคัญในการรองรับสรรพคุณของภูมิปัญญาที่มีมาเหล่านั้นว่าเป็นจริงหรือไม่

นอกจากจะทำให้เป็นที่ยอมรับแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญในเรื่องมาตรฐานของสมุนไพรเหล่านี้ด้วย เพื่อให้หมอที่รักษาคนด้วยวิทยาศาสตร์ เข้าใจสมุนไพรในแง่มุมของวิทยาศาสตร์ นั่นคือ ต้องทำสมุนไพรให้เป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็คือ สามารถพิสูจน์ได้ งานวิจัยจึงเข้ามาสนับสนุนภูมิปัญญา ที่มีมายาวนาน”

ในปี พ.ศ. 2542 กระ ทรวงสาธารณสุขได้กำหนดตำรับยาหอมที่เป็นยาสามัญประจำบ้านไว้ 4 ตำรับ คือ ยาหอมนวโกฐ ยาหอมอินทรจักร์ ยาหอมเทพจิตร และ ยาหอมทิพย์โอสถ ซึ่งทางคณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล ได้ทำการวิจัยไว้ 2 ตำรับ คือ ยา หอมนวโกฐ และยาหอมอินทรจักร์

อ.นพมาศ อธิบายถึงการทดลอง ให้ฟังว่า หากดูจากส่วนผสมของแต่ละตำรับไม่ต่างกันเท่าไรนัก แต่สิ่งสำคัญที่นักวิจัย จะต้องศึกษา คือ สมุนไพรประกอบด้วยอะไรบ้าง เพื่อจะได้ทราบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา รวมทั้ง ต้องรู้สัดส่วนด้วยว่ามีมากน้อยอย่างไร เพราะจะทำให้แต่ละตำรับมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่แตกต่างกัน

สำหรับ ยาหอมนวโกฐนั้น ประกอบด้วย สมุนไพร 54 ชนิด (โกฐ 9 ชนิด เทียน 9 ชนิด เกสร 5 ชนิด และ อื่น ๆ) มีสัตว์วัตถุ 1 ชนิด คือ ชะมดเช็ด และมีแร่วัตถุ 1 ชนิด คือ น้ำประสานทองสะตุ ส่วน ยาหอมอินทรจักร์ประกอบด้วย สมุนไพร 51 ชนิด (โกฐ 9 ชนิด เทียน 5 ชนิด เกสร 5 ชนิด และอื่น ๆ) มีสัตว์วัตถุ 2 ชนิด คือ ดีหมู และเลือดแรด และมีแร่วัตถุ 3 ชนิด คือ กำยาน อำพันทอง และพิมเสน แต่เนื่องจาก สัตว์วัตถุหลายชนิดหายากในปัจจุบัน รวมทั้ง รู้สึกทารุณ กรรมในสายตาของผู้บริโภค จึงเอาออกและหันมาใช้พืช เป็นหลัก

“วิธีการวิจัย คือ เตรียมสมุนไพรทั้ง 2 ตำรับ ในรูปของสารสกัด แล้วนำไปทดลองกับหนูและสุนัข พบว่า ยาหอมทั้ง 2 ตำรับ มีผลทำให้หัวใจเต้นแรงขึ้น เพื่อบีบให้เส้นเลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้น แต่จะเต้นแรงในระยะเวลาหนึ่งเท่านั้นประมาณ 40 นาที จากนั้นก็จะลดลง รวมทั้ง ทำให้ความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นด้วย”

จากนั้นทดลอง ยาหอม นวโกฐ ในเรื่องของการ ปวดท้อง โดยทดสอบว่า ช่วยลดการบีบตัวของลำไส้หรือไม่ พบว่า ทำให้การหดตัวและการบีบตัว ของลำไส้ลดน้อยลง ซึ่งจะส่งผล ทำให้ไม่ปวดท้อง

ขณะเดียวกันก็ศึกษา ในหนูโดยให้ยานอนหลับ เมื่อหลับไปนาน 1 ชั่วโมง ก็ให้สารสกัด ยาหอมนวโกฐ เข้าไปพบว่า ทำให้ระยะเวลาการออกฤทธิ์ของยานอนหลับยาวนานขึ้น

ส่วน อาการอาเจียน ทดลองในสุนัข โดยให้ยาอาเจียนแล้วสังเกตว่า มีการ อาเจียนบ่อยแค่ไหนถ้าไม่ได้ รับยา รวมทั้ง สิ่งที่ออกมาจากการอาเจียนมีมากน้อยเพียงใด เพื่อดูความรุนแรงของการอาเจียน จากนั้น ให้ ยาหอมอินทรจักร์ สุนัขกินเข้าไป แล้วดูว่าจากที่เคยอาเจียน เป็นอย่างไร พบว่า การอาเจียนลดลงมาก ระยะเวลาในการอาเจียนยาวนานออกไป จึงสรุปได้ว่ายาหอมมีฤทธิ์ในการต้านการอาเจียนได้

“จากผลการวิจัย แม้จะให้ผล โดยรวมคล้ายกันแต่ก็มีสรรพคุณที่ต่างกัน โดย ยาหอมนวโกฐ จะใช้ได้ดีในเรื่องของ หลอดเลือด กระเพาะ หัวใจ สมอง รวมทั้ง แก้ปวดท้อง และ ช่วยในการหลับ โดยทำให้นอนหลับได้ยาวนานมากขึ้น ขณะที่ ยาหอมอินทรจักร์ แก้คลื่นไส้ อาเจียนได้ดีกว่า ฉะนั้นจะเห็นว่ายาหอมทั้ง 2 ตำรับ มีฤทธิ์ตามที่ระบุไว้บนฉลาก ซึ่งตรงกับสรรพคุณที่ภูมิปัญญาบอกไว้จริง ตลอดจนไม่มีผลข้างเคียง และพิษเฉียบพลัน หากทานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน หรือทานในจำนวนมาก”

ในส่วนของ ยาหอมเทพจิตร กับ ยาหอมทิพย์โอสถ แม้จะยังไม่ได้วิจัยแต่ถ้าหากดูจากสมุนไพรที่นำมาผสมแล้วไม่ได้ต่างกันมากนัก ตัวยาหลักจะเป็นโกฐทั้ง 9 เทียนทั้ง 9 รวมทั้งเกสรดอกไม้ เพียงแต่ว่า ยาหอมเทพจิตร จะมีดอกไม้และผิวส้มใส่เพิ่มเข้าไป ซึ่งในอินทรจักร์ และนวโกฐจะไม่มี โดยผิวส้มนี้จะช่วยในเรื่องของการคลื่นไส้ อาเจียนได้ และช่วยในการขับลม ช่วยในเรื่องของทางเดินอาหารได้ดี

ส่วน ยาหอมทิพย์โอสถ จะเห็นว่าตัวยามีน้อยกว่าตำรับอื่น ๆ พอสมควร แต่ก็ยังคงมียาหลักโกฐทั้ง 9 เทียนทั้ง 9 เหมือนกัน ซึ่งสรรพคุณหลัก ๆ ของสมุนไพรเหล่านี้จะช่วยในเรื่องของ แก้วิงเวียน คลื่นเหียน อาเจียน ได้

อาจารย์ประจำคณะเภสัชฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ยากที่สุดอย่างหนึ่ง คือ การทำสมุนไพรและการแพทย์แผนไทยให้น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะในทัศนคติของแพทย์แผนปัจจุบันและผู้คนในยุคนี้

“เรื่องทัศนคติเป็นเรื่องที่ค่อนข้างลำบากที่จะเปลี่ยน ซึ่งจริง ๆ แล้ว ที่คนปัจจุบันยังไม่ค่อยยอมรับเพราะยังไม่มีงานวิจัยมาสนับสนุน แต่ตอนนี้ได้วิจัยออกมาแล้วซึ่งมีผลตรงตามที่ภูมิปัญญาได้บอกไว้จริง รวมทั้ง มีรูปแบบที่ทันสมัยมากขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของยาเม็ดหรือสารสกัด โดยมีขนาดยาที่ถูกต้อง ทานง่ายไม่ยุ่งยากเหมือนในสมัยก่อน ซึ่งไม่แตกต่างจากยาในแผนปัจจุบัน”

สิ่งที่นักวิจัยผู้นี้อยากกล่าวถึงจากการวิจัย คือ ต้องยอมรับในภูมิปัญญาที่สะสมกันมาของไทย เพราะไม่มีประเทศใดที่เอาวัตถุดิบของสมุนไพรแต่ละชนิดมารวมกันเป็นสูตรได้ดีแบบนี้ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นเอกลักษณ์ของไทย อย่างหนึ่ง จึงอยากให้ทุกคนเห็นถึงคุณค่าตรงนี้ นำภูมิ ปัญญาของบรรพบุรุษไทยมาใช้ เพราะในหลาย ๆ โรคไม่ใช่มีเพียงยาแผนปัจจุบันที่รักษาได้ เช่น คนที่เป็นลมมักนิยมใช้แอมโมเนียให้ดม แต่ถ้าทานยาหอมจะดีกว่าเพราะช่วยให้ทั้งระบบของร่างกาย ดีขึ้นไม่ใช่เพียงแค่ให้หาย เป็นลม วิงเวียน เท่านั้น

รวมทั้ง โรคที่ยังไม่มียาแผนปัจจุบันทดแทนได้ แต่สามารถใช้ยาหอมได้ เช่น เมื่ออยู่ในที่สูง ๆ ซึ่งมีอากาศน้อยมากทำให้เกิดอาการหน้ามืดได้ ตรงนี้ยาแผนปัจจุบันไม่มีตัวยาใดบ่งชี้ชัดเจนว่าช่วยบรรเทาอาการได้ แต่เมื่อทานยาหอมเข้าไปแล้วช่วยได้ทันที ทำให้รู้สึกสดชื่นขึ้น

ถ้าคนไทยหันมาทาน ยาไทยไม่จำเป็นต้องเป็นยาหอมอย่างเดียว ตรงนี้จะช่วยในหลาย ๆ ด้าน ทั้ง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสังคม และที่สำคัญช่วยลดการนำเข้ายาแผนปัจจุบันจากต่างชาติ ได้จำนวนไม่น้อย อีกทั้ง คนในประเทศยังได้รับประโยชน์กันตั้งแต่ต้นน้ำ คนเก็บสมุนไพร ผู้ผลิต ไปจนถึงปลายน้ำที่เป็น ผู้บริโภค.

@@@@

มหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 7

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาครัฐและเอกชน ขอเชิญเที่ยว งานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 7 ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “หอมกรุ่นทั่วไทย หอมไกลทั่วโลก” ภายในงานชมลานวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย 4 ภาค สวนสมุนไพรและพืชหอมที่นำมาใช้ในชีวิตประจำวันของคนไทยสมัยโบราณ การสาธิตเกี่ยวกับสมุนไพรหอม การทำยาหอม รวมทั้งยังมีการแจกพืชสมุนไพร สำหรับผู้ร่วมชมงาน เพื่อนำไปเพาะปลูกใช้แก้โรคต่าง ๆ อาทิ เชียงดา ขมิ้นชัน ว่านเปราะหอม ฯลฯ

ผู้สนใจเข้าร่วมชมงานได้ ระหว่างวันที่ 1-5 กันยายน 2553 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ.
ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ www.dailynews.co.th

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น


มุมมองของชีวิต

Blog Archive