ปั้นดินให้มีชีวิต สร้างธุรกิจจากศิลปะ

| 2553-09-02 | |
เมื่อเอ่ยคำว่า ""งานศิลปะ" เชื่อว่าหลายคนคงนึงถึงภาพวาดต่างๆ บ้าง และภาพถ่ายบ้าง ตลอดจนงานศิลปะที่ศิลปินถ่ายทอดออกมาเป็นประติมากรรมในรูปแบบต่างๆ ตามจินตนาการที่มีมากหรือน้อย ลึกซึ้ง และให้ความรู้สึกตรงความต้องการแค่ไหน ย่อมส่งผลต่อคุณค่าของชิ้นงานนั้น "มีราคาหรือไม่" คุณค่าตามความชอบของงานศิลป์นี้ทำให้กลุ่มศิลปินสมัยใหม่ไม่น้อย พยายามประยุกต์และพัฒนาสู่ "ธุรกิจศิลปะ" เพื่อสร้างรายได้และผลกำไรจากจินตนาการที่ถ่ายทอดออกมาตรงกับความต้องการของผู้ซื้อ

"ธนสิทธิ์ พรทิพย์พิทักษ์" ช่างปั้นดินเผาหลานย่าโม ที่เติบโตจากกองดินเหนียว เมืองโคราช การเรียนรู้งานศิลปะการปั้นจึงไม่ต้องพร่ำสอนมากนัก แต่เชาวน์และความรักทำให้เขาลักจำ จากการเป็นลูกมือช่างปั้นท้องถิ่น จนมีความชำนาญแตกฉานและซึมลึกรักในศิลปะงานปั้น กอปรกับการใฝ่เรียนรู้ที่จะพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง นอกจากฝีมือที่ฝึกปรือจนชำนาญจากช่างปั้นท้องถิ่นแล้ว เขายังมุเรียนรู้หลักทฤษฎีสมัยใหม่ในห้องเรียนในระดับ "วิทยาลัยเพาะช่าง" แต่ชีวิตพลิกผันทำให้เรียนได้แค่ 6 เดือน ต้องระหกระเหินไปค้าแรงงานต่างแดน แต่โชคดีที่เขาได้ทำงานที่เขาถนัดคือ ช่างปั้นอิตาลี จึงทำให้เพิ่มความชำนาญมากขึ้น ประสบการณ์นี้ทำให้มองเห็นโอกาสที่กว้างไกลกว่า กับความตั้งใจพัฒนา "งานศิลปะ" ให้เป็น "เงิน" และสร้างธุรกิจตัวเอง

"ผมเป็นคนชอบงานศิลปะมาตั้งแต่เด็ก เมื่อโตขึ้นเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่โคราช ก็มาเข้าเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จนจบ ปวช. ศิลปกรรม ตอนนั้นได้มีโอกาสคลุกคลีตีโมงอยู่กับศิลปินช่างปั้นที่ด่านเกวียนท่านหนึ่ง ชื่อ พี่ต๋อง เขาเป็นศิลปินชาวบ้านที่ปั้นโปร่งสดเก่งมาก ก็เลยสนใจและเก็บความประทับใจตรงนั้นไว้ คิดว่าสักวันถ้ามีโอกาสจะต้องสร้างสรรค์ผลงานแนวนี้บ้าง ถือว่าเป็นงานที่บรรพบุรุษได้สร้างไว้ จากนั้นก็มาเรียนต่อที่วิทยาลัยเพาะช่าง กรุงเทพฯ เลือกลงประติมากรรมสากลได้ 1 ปี แต่ชีวิตก็กลับพลิกผันต้องไปทำงานที่ต่างประเทศ เพราะเราต้องหาเงินเรียนเอง ประจวบกับมีคนรู้จักแนะนำให้ไปทำงานที่ประเทศบรูไน ไปอยู่ได้ประมาณ 6-7 เดือน ก็ได้ความรู้กลับมาเยอะมาก เพราะงานที่ทำมีช่างจากอิตาลีเขามาคุมงาน ก็ทำให้ได้ความรู้จากตรงนั้นมาเยอะ งานศิลปะจะต้องเรียนลึก ต้องอาศัยความมุมานะ อดทน และความพยายามอย่างสูงที่จะฝึกฝนตัวเอง หลังจากที่กลับมาจากต่างประเทศก็ได้ไปทำงานที่โรงหล่อในกรุงเทพฯ ทำอยู่ในวงการนี้มากว่า 20 ปีแล้ว ยึดสายประติมากรรมปั้นงานส่งโรงหล่อเป็นอาชีพหลัก จนได้รู้จักกับเพื่อนที่ทำงานด้วยกันสนิทสนมกันมาก เขามีบ้านอยู่ที่สมุทรสาคร เห็นว่าใกล้กรุงเทพฯ เลยพากันย้ายมาตั้งหลักปักฐานกันที่นี่ ซึ่งถือว่าสะดวกสบายกว่าในการนำผลงานออกไปแสดง จากวันนั้นมาถึงวันนี้นับแล้ว 10 กว่าปี" คุณธนสิทธิ์ เล่าความเป็นมาก่อนมาถึงวันนี้

"งานประติมากรรมการปั้นโปร่งสด" เป็นงานที่ "หนุ่มโคราช" คนนี้ รักเป็นชีวิตจิตใจ แม้จะเป็นงานที่ทำยากต้องใช้ความละเอียด ต้องมีสมาธิกับชิ้นงานสูง และต้องอาศัยเทคนิคและความชำนาญในการปั้น จึงจะทำให้งานออกมาดี "คุณธนสิทธิ์" สาธยายอย่างผู้ชำนาญถึงวิธีการปั้นโปร่งให้ฟังว่า

"งานประติมากรรมในสมัยแรกๆ ผมจะเรียนขั้นพื้นฐาน เริ่มจากเขียนรูปก่อน และขึ้นโครงเหล็ก จากนั้นก็ขึ้นดิน จากภายในสู่ภายนอก ขึ้นกระดูกกล้ามเนื้อผิวหนัง ซึ่งในกระบวนการส่วนนี้จะต้องมีความชำนาญ ผมก็ใช้ความรู้ทางด้านประติมากรรมโครงสร้างภายในมาเป็นลักษณะของเส้นรอบนอก ขึ้นโปร่งสด ไม่มีโครงเหล็กอยู่ข้างใน ไม่มีแกน ขึ้นเป็นวงแหวน โดยใช้ดินเหนียวปั้นให้อยู่ตัวด้วยความตึงของเนื้อดิน เราต้องรู้จังหวะของกระดูก กล้ามเนื้อ สัดส่วน ในช่วงแรกๆ ที่ทำก็มียุบบ้าง เพราะยังไม่เข้าใจเรื่องการอยู่ตัวของดิน นิ่มไปบ้าง น้ำหนักไม่อยู่บ้าง เมื่อเราปั้นได้แล้ว ก็ปล่อยให้แห้งจากนั้นจึงนำไปเผา ระยะเวลาในการทำถ้าเป็นการปั้นสาธิตชิ้นหนึ่งวันเดียวผมก็ทำเสร็จเห็นชิ้นงานแล้ว ซึ่งปกติงานศิลป์ทุกสายต้องใช้เวลาเหมือนกัน ถือว่าใครทำได้เร็วก็ทุ่มเทเยอะ ทุ่มเทให้กับการสร้างสรรค์ผลงานเยอะ"

ข้อจำกัดของศิลปินส่วนใหญ่คือ "มีฝีมือ แต่ไม่มีหัวการค้า" โจทย์ข้อนี้ "หนุ่มโคราช" ตีแตกกระจุยด้วยอาศัยประสบการณ์ลักจำจากต่างประเทศ และ 20 ปีในเมืองไทย มองทะลุทุกมิติธุรกิจ เขาเรียนรู้ความต้องการของตลาด ดังนั้น การปั้นจึงเน้นตามใจผู้ซื้อ ไม่ใช่ตามใจตัวเอง ลูกค้าต้องการอะไร แบบไหนก็จะผลิตตามนั้น การหาตลาดก็เช่นกัน นอกจากการขายแบบบอกต่อแล้ว การเปิดช่องทางการจำหน่าย ซึ่งทั้งหมดตกผลึกในกระบวนการเดียวกัน "ปั้นแล้วต้องขายได้"

"ผลงานที่ผ่านมาก็มี อนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่เขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว หลวงพ่อโสธร ผมก็ได้มีส่วนร่วม เป็นหนึ่งในทีมงาน ที่ถนนอักษะก็แบบหัวเสา และล่าสุด กำลังเสนอของบประมาณก่อสร้างเรือเอกชัย ของพ่อพันท้ายนรสิงห์ โดยใช้ซีเมนต์เป็นวัสดุในการสร้าง ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการในส่วนเรื่องงบประมาณอยู่ และโดยส่วนตัวผมชอบทำงานอยู่กับบ้าน เพราะศิลปินก็อยากจะมีโลกส่วนตัว ทำงานศิลปะด้วยความสบายใจ จรรโลงโลกให้สวยงามด้วยงานศิลป์ ใช้ชีวิตเรียบง่าย โดยเมื่อประมาณปี 47 รัฐบาลได้มีนโยบายให้กระทรวงวัฒนธรรมจัดรวบรวมคนที่ทำงานศิลปะไปรวมกลุ่มกัน ได้จัดเวทีให้ มีงบประมาณให้ ผมก็เลยไปสมัครที่หอศิลป์ ในงาน Art market แล้วก็เริ่มสร้างสรรค์ผลงานศิลปะไปแสดง นี่เป็นครั้งแรก ที่ทางกระทรวงสนับสนุนให้มีหน่วยงาน สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม มีหน้าที่จัดแสดงศิลปวัฒนธรรมของชาติ ถือว่าเป็นเวทีให้ผู้ที่ทำงานศิลปะ" คุณธนสิทธิ์ กล่าวถึงผลงานและการมีส่วนร่วมที่สำคัญในศิลปะการปั้นต่างๆ

จากความรักต่ออาชีพและความตั้งใจจริงที่จะบูรณาการงานศิลปะการปั้น ให้เพิ่มมูลค่าและเป็นอาชีพที่มั่นคง ทำให้ "คุณธนสิทธิ์" ได้รับเสียงตอบรับจากผู้ซื้อและหน่วยงานภาครัฐที่เขามีส่วนร่วมในการทำงานและร่วมกิจกรรม ณ วันนี้ ผลงานของเขาจึงได้รับการยกย่องให้เป็นสินค้า หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ระดับ 3 ดาว ประจำจังหวัดสมุทรสาคร สำหรับผู้ที่สนใจจะเข้าชมผลงานศิลปะและขอรับความรู้จากศิลปินผู้นี้ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ บ้านเลขที่ 70/8 หมู่ 3 ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร หรือโทร. (034) 857-403 หรือ (089) 512-4719 (089) 512-4719

ที่มา เส้นทางเศรษฐี

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น


มุมมองของชีวิต